วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560



วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง


ถ้าจะไปวัดพระแก้ว เห็นจะต้องมาแวะสักการะ หลักเมือง กันเสียก่อน ไม่ใช่เพียงเพราะว่าอยู่ใกล้กันเท่านั้นแต่เป็นโอกาสที่จะได้ย้อนระลึกถึงกำเนิดเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์กันเลยทีเดียว เพราะเมื่อตอนที่รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ย้ายเมืองข้ามมาจากทางฝั่งธนฯ ก่อนจะมีการสร้างพระราชวังและวัดพระแก้ว ก็มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองก่อนเป็นปฐม
ที่เป็นอย่างนี้ก็คงเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่จะบำรุงขวัญพสกนิกรด้วยว่า คนไทยเราจะลงหลักปักฐานอยู่กันที่นี่ไม่หนีศัตรูไปไหนอีกแล้ว ตัวเสาหลักเมืองเองก็ยังเลือกทำจาก "ไม้ชัยพฤกษ์" ที่มีชื่อเป็นมงคล ส่วนที่หัวเสาก็บรรจุดวงเมืองเอาไว้ด้วย



ถ้าเข้าไปในศาลหลักเมืองก็อาจจะแปลกใจ ทำไมมีเสาหลักเมืองอยู่ 2 ต้น ????
ตอนแรกก็มีอยู่ต้นเดียวนี่แหละ แต่พอมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็โปรดฯ ให้ยกเสาหลักเมืองใหม่ ความที่พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์อยู่ด้วย คงจะทรงเห็นว่าดวงเมืองเดิมไม่เหมาะก็เลยทรงแก้เสียใหม่ แล้วก็เลยมีเสาหลักเมืองอยู่สองต้นอย่างที่เราเห็นกันอยู่
เรียกว่ารัชกาลที่ 4 นั้นไม่เพียงแต่จะทรงพระปรีชาในทางดาราศาสตร์ จนสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำทำเอาฝรั่งทึ่งไปตาม ๆ กัน แม้วิชาทางโหราศาสตร์พระองค์ท่านก็มีพระปรีชาไม่ยิ่งหย่อนไปเลย
ส่วนหลักเมืองต้นสูงที่เห็นนั่นเป็นต้นที่ยกสมัยรัชกาลที่ 1 ต้นที่เตี้ยกว่าก็เป็นต้นน้องใหม่สมัยรัชกาลที่ 4



ด้านข้างอาคารศาลหลักเมืองยังมี ศาลเทพารักษ์ อยู่ด้วย ซึ่งประดิษฐานเทพารักษ์อยู่ 5 องค์ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬชัยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง
พระเสื้อเมือง นี่เรียกว่าเป็นฝ่ายบู๊ ระดับคุมกำลังคอยป้องกันอริราชศัตรู ส่วนพระทรงเมือง จัดเป็นพวกบุ๋น คือดูแลเรื่องการปกครอง ดูแลประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข
เล่าเป็นตัวอย่างไว้สักสององค์ ส่วนองค์อื่น ๆ องค์ไหนเป็นองค์ไหน แนะนำให้ไปอ่านกันต่อที่ป้ายหน้าศาลจะดีกว่า



ส่วนใครที่ต้องการจะสักการะหลักเมือง ทางองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลหลักเมืองแห่งนี้เขาก็จัดเอาไว้ให้เป็นชุด ราคาชุดละ 30 บาท



สถานที่บูชา จะจัดไว้ให้ต่างหากด้านนอก



ตรงข้างศาลหลักเมืองแต่ก่อนเป็นต้นสายรถรางที่วิ่งไปปากน้ำ ลองออกมาถนนด้านที่อยู่ระหว่างศาลหลักเมืองกับกระทรวงกลาโหมเราจะยังเห็นรางรถรางอยู่เลย



ส่วนตัวรถรางจะเป็นยังไง คงพอดูเป็นตัวอย่างจากรถนำเที่ยวของ กทม. ที่แล่นให้บริการเที่ยวชมสถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ทำหน้าตาให้เหมือนกับรถรางสมัยก่อน



จากศาลหลักเมืองเดี๋ยวเราจะไปเที่ยววัดพระแก้วกันต่อ
จากหน้าศาลเราก็ข้ามถนนแล้วเดินเลียบกำแพงวังมา ด้านขวามือจะเป็นสนามหลวง ถนนด้านนี้เรียกกว่าถนนหน้าพระลาน เป็นเพราะเป็นถนนที่อยู่บริเวณลานหน้าพระราชวังนั่นเอง
ถนนสายนี้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจว่า ในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดฯ จะให้มีพระใหญ่ไว้ในพระนคร เหมือนอย่างที่อยุธยามีพระใหญ่อยู่ที่วัดพนัญเชิง (ถ้าบอกว่าคือ พระซำเปากง คงร้องอ๋อกัน)
ก็เลยโปรดฯ ให้ชะลอองค์พระมาจากวัดมหาธาตุ ที่เมืองสุโขทัย พอมาขึ้นที่ท่าช้างแล้วก็ชักพระผ่านมาทางถนนสายนี้
และที่สำคัญคือ รัชกาลที่ 1 แม้ขณะนั้นจะทรงพระชราภาพอีกทั้งยังทรงพระประชวรอยู่ด้วย ก็ยังทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเปล่านำการชักพระครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง



ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่ชะลอมานั้นก็คือ พระศรีศากยมุนี พระประธานในวิหารหลวงที่ วัดสุทัศน์ นี่เอง ที่สมัยรัชกาลที่ 1 เพียงแต่เชิญองค์พระมาตั้งไว้ ยังไม่ทันได้สร้างเป็นวัดดีก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน



การจะเข้าไปชมพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญยิ่งของชาติด้วย จึงมีข้อกำหนดเรื่องการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ แต่ก็อาจทำให้หลายคนเกร็ง ๆ กันอยู่เวลาจะเข้าไปเที่ยวชมกัน ก็เลยขอให้ข้อมูลเรื่องการแต่งกายไว้หน่อยว่า
เสื้อ จะต้องเป็นเสื้อที่มีแขน ประเภทสายเดี่ยวหรือเสื้อแขนกุดนี่ไม่ได้เลย เนื้อผ้าก็อย่าให้บางเบาจนเกินไป
ส่วน กางเกง จะต้องเป็นกางเกงยาวคลุมตาตุ่ม จะเป็นกางเกงยีนส์ก็ได้ ที่ไม่ได้จะเป็นพวกกางเกงสามส่วน กางเกงกระโปรง หรือกางเกงเล ส่วนคุณผู้หญิงจะสวมกางเกงก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะเป็นกระโปรงก็ต้องเป็นกระโปรงที่ไม่สั้นจนเกินไป
รองเท้า นี่ถ้าเป็นชาวต่างประเทศเขาต้องให้เป็นรองเท้าหุ้มส้นเท่านั้น แต่เท่าที่เห็นรองเท้าที่มีสายรัดส้นก็ใช้ได้แล้ว สำหรับคนไทยยังอนุโลมเรื่องรองเท้าแตะ แต่เขาวงเล็บไว้ว่า (สำหรับผู้ที่มาจากต่างจังหวัด)



แต่ถ้าเครื่องแต่งกายไม่ถูกต้องยังไง ทางสำนักพระราชวังเขาก็จัดเสื้อผ้าให้ยืมฟรี ตรงประตูวิเศษไชยศรี แต่ต้องวางเงินประกันชิ้นละ 100 บาทกับบัตรประชาชนเอาไว้ ซึ่งก็ยุ่งยากเสียเวลาเหมือนกันเพราะจะมีคนต่างชาติมาใช้บริการกันตลอด
ยังไงแต่งตัวให้เรียบร้อยมาเลยดีกว่า ยิ่งแต่งผ้าไทยมาถ่ายรูปที่นี่ สวยอย่าบอกใครเชียว



พอผ่านประตูพิมานไชยศรีที่เป็นประตูทางเข้าหลัก อยู่เยื้อง ๆ กับหัวมุมสนามหลวง เดินตรงเข้ามาจะมีห้องจำหน่ายบัตรเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ  ค่าบัตรคนละ 400 บาท  (เริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค. 54)



บัตรนี้สามารถเลือกใช้เข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือพระราชวังสนามจันทร์ที่นครปฐม ได้ด้วย แต่ไม่ต้องรีบบึ่งไปวันเดียวกันก็ได้ เพราะสามารถใช้ได้ภายใน 7 วัน



ส่วนคนไทยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม
ตรงซุ้มตรวจบัตรเข้าชมจะมีช่องเฉพาะสำหรับคนไทยอยู่ทางซ้าย ส่วนใครที่เป็นคนไทยแต่หน้าตากระเดียดไปทางจีนหรือญี่ปุ่นสักหน่อย อาจจะต้องร้องเพลงชาติให้เจ้าหน้าที่ฟังก่อนสักรอบ ล้อเล่นน่ะ เพียงแต่ส่งยิ้มแล้วบอกว่าเป็นคนไทยก็เรียบร้อย




ถ้าใครพาเพื่อนต่างชาติไปแล้วบรรยายไม่ถูก  ไม่ต้องห่วงที่นี่มีตัวช่วย ให้ไปเช่าเครื่อง PAG หรือ Personal Audio Guide ที่สำนักพระราชวังเขาก็มีจัดไว้ให้ก็ได้  ค่าเช่า 200 บาทต่อ 2 ชั่วโมง  อยู่ถัดจากซุ้มขายบัตรมานิดเดียว
เจ้าเครื่องที่ว่าจะมาพร้อมแผนที่ที่มีเบอร์ของสถานที่สำคัญแต่ละที่ในวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง    พอไปอยู่ตรงไหนก็กดปุ่มตัวเลขบนเครื่องให้ตรงกัน ก็จะได้ฟังคำบรรยายนำชมสถานที่นั้นแล้ว  ง่าย ๆ แค่นี้เอง
ส่วนภาษาที่มีให้เลือกกันก็มี อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  ญี่ปุ่น  จีนกลาง  รัสเซีย  สเปน   และที่สำคัญ ภาษาไทยเราก็มีด้วย
หรือถ้าชอบให้มีคนพาเดินพาชม อาจจะใช้บริการไกด์เอกชนที่มารอให้บริการกันอยู่ตรงตรงหน้าประตูทางเข้า ใกล้ๆ กับที่มีเจ้าหน้าที่ยืนตรวจตราเครื่องแต่งกายก็ได้





ผ่านประตูเข้ามาปุ๊บ เราก็จะเจอท่านฤาษีนั่งยิ้มเผล่รอต้อนรับอยู่
ทำเป็นเล่นไป รูปฤาษีนี้คือหมอประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า หรือท่าน "ชีวก โกมารทัจน์" เชียว ท่านเป็นที่นับถือของผู้ที่ศึกษาทางด้านการแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะมาขอพรจากท่านกัน
ส่วนตรงมุมล่างซ้ายของภาพ จะมีแท่งหินอยู่แท่งนึง บางคนอาจจะสงสัยว่าเป็นอะไร เห็นคนเอาดอกไม้ไปบูชาเสียด้วย ขอเฉลยว่าเป็นหินบดยานี่เอง ว่าแต่ยังหาครกที่จะใช้คู่กับหินบดยาไม่ยักเจอ



เดินเลี้ยวซ้ายมาหน่อย เราจะพบกับ ยักษ์ทวารบาล ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาภายในบริเวณวัด
ทั้งหมดมีอยู่ 6 คู่ด้วยกัน แต่คู่ที่อยู่ตรงนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะคือทศกัณฐ์ซึ่งเรารู้จักกันดีว่าเป็นตัวผู้ร้ายในเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนตนข้าง ๆ คือสหัสเดชะซึ่งเป็นญาติกันกับทศกัณฐ์
ยักษ์ทั้งสองตนนี้รวมทั้งตนอื่น ๆ ด้วยที่มารับหน้าที่ทวารบาล ต่างก็เป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์เดชชั้นเซียนกันทั้งนั้น ส่วนจะมีชื่ออะไรก็บ้างก็สามารถดูได้จากป้ายชื่อที่ติดเอาไว้ให้เรียบร้อย
ส่วนรูปประกอบอาจจะดูแปลก ๆ หน่อย เพราะเห็นว่าคงได้ดูรูปหน้ายักษ์กันมาเยอะแล้ว เลยขอเปลี่ยนมุมมาชมด้านหลังกันบ้าง



เดินผ่านศาลารายมา เดี๋ยวเราจะเข้าไปที่พระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่เรียกกันสามัญว่าพระแก้วมรกตกัน ส่วนใครที่ต้องการจะจุดธูปเทียนบูชาพระแก้วมรกต ทางวัดจัดสถานที่ตรงลานหน้าพระอุโบสถเอาไว้ให้



เข้ามาภายในพระอุโบสถแล้วเนี่ย เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ก็เลยมีแต่ภาพที่ซูมจากด้านนอกเข้าไป คุณภาพภาพจะแย่สักหน่อย
เอาเป็นว่ามีแต่ความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้กราบพระคู่บ้านคู่เมืองมาฝากกัน
คำว่า "รัตนโกสินทร์"  รัตนะนั้นแปลว่าแก้ว  ส่วน โกสินทร์ คือพระอินทร์  สองคำนี้มารวมกันก็หมายความถึงพระแก้วมรกต เพราะมีตำนานเล่าว่าพระแก้วมรกตนั้นสร้างขึ้นจากรัตนะของพระอินทร์
เพราะงั้น ถ้าถอดเครื่องประดับรุงรังของคำว่า "กรุงรัตนโกสินทร์" เราก็จะได้เจอตัวจริงที่ชื่อ "เมืองพระแก้ว" นั่นเอง
กราบพระเสร็จ สายตาเริ่มซอกแซก ถ้าคุณได้มาดูเองคงต้องยอมรับว่า ภายในพระอุโบสถเต็มไปด้วยงานศิลป์อันวิจิตรทั้งนั้น ก็แหมเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ก็ต้องระดมช่างฝีมืออย่าเอกอุในแผ่นดินมาฝากฝีมือเอาไว้ เห็นแล้วก็อดภาคภูมิใจในมรดกที่บรรพบุรุษได้ฝากเอาไว้ให้ เป็นสมบัติชาติที่อวดใคร ๆ ไปได้ทั่วโลกเลยทีเดียว



ก่อนออกจากพระอุโบสถ อยากชี้ชวนให้ชมพระพุทธรูปที่พิเศษสักหน่อย
ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นด้านหน้าสุดจะมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องกษัตริย์สององค์อยู่ซ้ายขวา องค์ทางซ้ายมือของเราคือ "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ส่วนองค์ทางขวาคือ "พระพุทธเลิศหล้านภาลัย" เป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้สร้างขึ้น
ฟังชื่อคุ้น ๆ ใช่มั้ย เพราะเหมือนกับพระนามของรัชกาลที่ 1 และที่ 2
เรื่องก็มีว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นชาวบ้านมักจะเรียกสมัยรัชกาลที่ 1 ว่า "แผ่นดินต้น" และเรียกสมัยรัชกาลที่ 2 ว่า "แผ่นดินกลาง" รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าหากให้เรียกแผ่นดินพระองค์ว่า ไแผ่นดินปลาย" ก็จะเป็นอัปมงคล ก็เลยโปรดฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้น 2 องค์ ถวายพระนามพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ แล้วก็โปรดให้เรียกชื่อรัชกาลที่ 1 และ 2 ตามพระนามพระพุทธรูปนี้ ซึ่งก็คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ทั้งพระนามของทั้งสองรัชกาลนี้ จึงมีคำว่า "พระพุทธ" อยู่ด้วย
บางคนอาจแปลกใจว่าทำไมต้องสร้างเป็นพระพุทธรูป ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะไทยเราไม่มีธรรมเนียมสร้างพระบรมรูปกันในสมัยนั้น แต่พอหลัง ๆ มาเมื่อเราเริ่มรับธรรมเนียมอย่างฝรั่งเข้ามา ก็เริ่มมีการสร้างพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลขึ้นมา



กราบลาพระแก้วมรกตกันแล้ว ก่อนก้าวออกมาน่าจะได้หันไปชื่นชมกับบานประตูพระอุโบสถ เป็นบานประตูประดับมุกซึ่งยกย่องกันว่าเป็นงานศิลปะที่งามมาก สร้างโดยช่างในสมัยรัชกาลที่ 1  ดูเองแล้วกันว่างานละเอียดวิจิตรขนาดไหน
แต่จะว่าไปแล้วช่างในยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ก็คือ ช่างอยุธยา นี่เอง



เมื่อลงจากตัวพระอุโบสถมาตรงเชิงบันไดจะมีอ่างน้ำมนต์ตั้งอยู่ เรามักนิยมเอาดอกบัวไปจุ่มน้ำมนต์มาประพรมเป็นสิริมงคล เพราะน้ำมนต์นี้เป็นน้ำที่ได้จากการสรงพระแก้วมรกตให้แต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนเครื่องทรงประจำฤดู



มาเดินเที่ยวรอบ ๆ พระอุโบสถกันต่อ
ไทยเรารับเอาคติมาจากขอมนับตั้งแต่สมัยอยุธยามาแล้วว่า พระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นพระนารายณ์อวตารลงมา เพราะงั้นก็จะมีการออกพระนามพระมหากษัตริย์ว่า สมเด็จพระรามาธิบดี เพราะ พระราม เป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์ที่เป็นมนุษย์
ส่วนพระนารายณ์นั้นจะทรงครุฑเป็นพาหนะ มีตำนานเล่าว่าพระนารายณ์กับครุฑเคยรบกัน ต่างฝ่ายต่างไม่เพลี่ยงพล้ำ เรียกว่าเก่งพอ ๆ กัน สุดท้ายก็เลยต้องตกลงทำสนธิสัญญาสงบศึกกัน โดยตกลงกันว่า ถ้าพระนารายณ์จะไปไหนครุฑจะยอมเป็นพาหนะให้ แต่ถ้าพระนารายณ์ประทับที่ไหนครุฑจะขออยู่สูงกว่า เพระงั้นจึงไม่แปลกที่มีธงครุฑติดบนรถยนต์พระที่นั่ง และถ้าพระมหากษัตริย์ประทับที่ใดก็จะมีการชักธงครุฑขึ้นไว้
ด้วยเหตุนี้เราจึงมักพบรูปนารายณ์ทรงครุฑ หรือรูปครุฑในงานศิลปะต่าง ๆ ของไทยเราที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เสมอ รวมทั้งที่หน้าบันของพระอุโบสถวัดพระแก้วนี้ด้วย



ส่วน ทำไมครุฑถึงต้องยุดหรือจับนาค นั้น
ตามตำนานก็ว่าครุฑนั้นกินนาคเป็นอาหาร โดยครุฑนั้นมีกำลังมากสามารถใช้ปีกโบกจนน้ำในมหาสมุทรแตกเป็นวงแล้วโฉบลงไปจับนาคกินได้ นาคก็กลัวถูกจับไปกินก็เลยกินก้อนหินถ่วงไว้ที่ท้อง คงกะจะให้ครุฑบินไม่ขึ้น ครุฑก็เลยต้องจับนาคห้อยหัวให้คายก้อนหินออกมาเสียก่อน
นั่นก็เป็นเรื่องในตำนาน ถ้าเป็นอีกแนวหนึ่งก็ว่า มีชนกลุ่มหนึ่งนับถือนาคหรืองู แต่ต่อมาได้ถูกชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนับถือเทพอื่นรวมถึงครุฑด้วยนั้นสามารถมีชัยยึดครองดินแดนของพวกที่นับถือนาคได้ พวกที่ชนะก็เลยทำรูปครุฑที่ตนนับถือนั้นจับนาคไว้เสมือนเป็นสัญลักษณ์แสดงความเหนือกว่าเอาไว้ เรียกว่าข่มกันเห็น ๆ



จากพระอุโบสถเราจะไปชมบนฐานไพที หรือฐานที่ยกสูงที่อยู่ข้างพระอุโบสถกัน บนนั้นมีของที่น่าดูน่าชมเยอะไปหมด
เดิมเมื่อแรกสร้างวัดนั้นบนฐานไพทีนี้ จะมีเพียงพระมณฑปกับสุวรรณเจดีย์เท่านั้น ซึ่ง พระมณฑป ที่เห็นในรูปนั้นใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้โปรดฯ ให้มีการชำระขึ้นใหม่




ส่วน สุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์เพิ่มมุม 12 มีรูปลิงและยักษ์แบก
เจดีย์นี้รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระชนกชนนี ซึ่งเป็นตามธรรมเนียมการสร้างวัดที่จะสร้างเจดีย์คู่ไว้หน้าวัด เป็นการอุทิศแก่บิดามารดาของผู้สร้าง ที่ฐานเจดีย์เป็นรูปยักษ์กับกระบี่ (ลิง) แบกเจดีย์
ตัวไหนเป็นยักษ์ ตัวไหนเป็นลิง สังเกตได้อย่างหนึ่งง่าย ๆ คือ ลิงไม่ใส่รองเท้าจ้า



"สู้โว้ย"  แบกมา 200 กว่าปีแล้ว ถึงจะเหนื่อยแต่ยังสู้อยู่



ส่วนเจดีย์องค์นี้สร้างเพิ่มเติมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เรียกว่า พระศรีรัตนเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังซึ่งถ่ายแบบมาจากเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่กรุงเก่ามาสร้าง ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ว่ากันว่าเจดีย์ทรงระฆังอย่างนี้เป็นรูปแบบที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรด เพราะงั้นเจดีย์ตามวัดที่รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างก็มักจะเป็นเจดีย์ทรงนี้ทั้งนั้น อย่างที่วัดบวรนิเวศฯ นั่นก็ใช่ด้วยเหมือนกัน ถ้าใครได้ไปก็ลองสังเกตดู



สมัยรัชกาลที่ 4 ยังได้โปรดฯ ให้สร้าง ปราสาทพระเทพบิดร ขึ้นด้วย เดิมเรียกว่า พุทธปรางค์ปราสาท สังเกตุว่าส่วนยอดจะเป็นปรางค์



แรกทีเดียวมีพระราชประสงค์จะย้ายพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่นี่ เนื่องจากทรงเห็นว่าพระมณฑปซึ่งประดิษฐานพระไตรปิฎก หรือถือว่าเป็นพระธรรมนั้นสูงกว่าพระแก้วมรกตที่ถือว่าเป็นพระพุทธที่อยู่ในพระอุโบสถ
จึงโปรดฯ ให้สร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นสูงเท่ากับพระมณฑปคือสูง 1 เส้น แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วเห็นว่าสถานที่คับแคบไม่เหมาะแก่การพระราชพิธีจึงไม่ได้ย้ายพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่นี่
ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้ตั้งพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อน ๆ ไว้ ปัจจุบันประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1-8 และเปิดให้ประชาชนเข้าไปถวายบังคมได้ในวันจักรี สำหรับตัวปราสาทเป็นทรงจตุรมุขคือมีมุขออกมาสี่ด้าน ตรงกลางเป็นยอดปรางค์ซึ่งนับเป็นปราสาทยอดปรางค์เพียงองค์เดียว



ตามคติของขอมที่ไทยเรารับเอามา ถือว่าเขาพระสุเมรุนั้นถือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งจะรายรอบไปด้วยป่าหิมพานต์
ราสาทพระเทพบิดรที่มียอดเป็นปรางค์ ก็ถูกเปรียบเสมือนเป็นตัวเขาพระสุเมรุ ดังนั้นบริเวณลานด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร ก็เลยมีรูปกินนร กินนรี และสัตว์หิมพานต์อื่น ๆ มาประดับโดยรอบ



ตราประจำรัชกาลและช้างเผือก สำหรับรัชกาลที่ 1 เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ รัชกาลที่ 2 เป็นรูปครุฑยุดนาค ส่วนตราสำหรับรัชกาลอื่น ๆ ฝากให้คุณไปชมกันต่อ



ใครอยากไปชมนครวัตสักครั้งในชีวิต แต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปสักที ลองมาชมที่ มินินครวัต หรือ นครวัตจำลอง ที่รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ไปถ่ายแบบมาจากนครวัด เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นของแปลกมหัศจรรย์ แล้วในขณะนั้นกัมพูชายังเป็นประเทศราชของไทยอยู่



พระพุทธรูปหิน มีอยู่ 4 องค์ตั้งอยู่แต่ละมุมของพระมณฑปเรียกว่า พระธยานิพุทธศิลา องค์พระเป็นสีดำ เนื้อผิวเป็นรูพรุณ เนื่องจากทำจากหินภูเขาไฟ เป็นศิลปะศรีวิชัยสกุลช่างชวาภาคกลางหรือที่เรียกว่า บุโรพุทโธ (ฟังชื่อแล้วคงคุ้นกันดี) ได้มาในคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนชวา โดยในระหว่างที่เสด็จเยือนนั้นได้ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับโบราณวัตถุต่าง ๆ รัฐบาลฮอลันดาซึ่งปกครองชวาอยู่ในขณะนั้นจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปนี้มา
แต่องค์ที่เห็นอยู่ปัจจุบันเป็นของจำลองที่หล่อขึ้นใหม่ ส่วนองค์จริงนั้นเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วยังมีพระพุทธรูปแบบเดียวกันนี้อีกองค์หนึ่งซึ่งได้มาในครั้งเดียวกัน ประดิษฐานอยู่ข้างพระอุโบสถวัดบวรนิเวศด้วย





ถัดจากบนฐานไพฑีลงไปเราจะเห็นหอพระนากอยู่ด้านซ้ายมือ ตรงกลางคือพระวิหารยอด และขวามือคือหอพระมณเฑียรธรรม
ส่วน หอพระนาก ใช้เป็นที่เก็บพระอัฐิของพระราชวงศ์



พระวิหารยอด ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระนาก ซึ่งคงจะย้ายมาจากหอพระนากอีกที  แต่จะเป็นด้วยเหตุใดก็ไม่มีหลักฐานบอกไว้
ตัวพระวิหารทำด้วยกระเบื้องเคลือบซึ่งเป็นศิลปะที่เป็นพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ถ้าเห็นงานแบบนี้ที่ไหนก็บอกได้เลยว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3  (อย่างหอไตรที่วัดโพธิ์นี่ก็ใช่  หรือแม้แต่พระปรางค์วัดอรุณถ้าไปดูใกล้ๆ ก็จะเห็นกระเบื้องเคลือบเต็มไปหมด)



หอพระมณเฑียรธรรม สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อแรกสร้างวัดพระแก้ว ด้วยฝีมือช่างวังหน้าซึ่งมาช่วยสร้างวัด ใช้สำหรับเก็บพระคัมภีร์ที่เหลือจากที่จะเก็บไว้ได้ในพระมณฑป ส่วนปัจจุบันจะนิมนต์พระมาแสดงพระธรรมเทศนากันที่นี่ทุกวันพระ แทนที่จะเป็นในพระอุโบสถที่ค่อนข้างพลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยว
ถ้าได้ไปยืนเล็ง ๆ ดู จะรู้สึกได้เลยว่าลวดลายของ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน คันทวย ที่ประดับอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรม นี่ดูทั้งงดงามอ่อนหวานแต่ก็แฝงความเข้มแข็งเด็ดขาดไว้ในที ที่ว่ากันว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานช่างวังหน้าเลยทีเดียว  น่ามาชมมาก
ที่จริงแต่ก่อนยังมีของดีอีกอย่างคือ บานประตู ที่เป็นบานมุกฝีมือเลิศมาก เป็นของเก่าสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ สำหรับไว้ที่วัดบรมพุทธารามที่อยุธยา แต่ปัจจุบันถูกถอดไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว



มาถึงวัดพระแก้วแล้ว ถ้าไม่ได้มาเดินดูจิตรกรรมฝาผนังด้วยแล้ว ต้องถือว่ายังมาไม่ถึงวัดพระแก้ว แล้วถ้าอยากจะดูภาพตอนแรกจากทั้งหมด 178 ตอน ก็ต้องมาเริ่มดูตรงหลังพระวิหารยอดนี่เอง



ยกตอนสนุก ๆ มาให้ดูสักตอน
ภาพนี้เป็นตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ คือตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ด้วยความที่ทศกัณฐ์ส่งญาติพี่น้องออกไปรบทีไรก็พากันแพ้ ถูกทหารพระรามฆ่าตายหมด ก็เลยกะจะอาศัยท้าวมาลีวราชซึ่งเป็นพระพรหมแล้วก็เป็นพระญาติกันกับแกมาช่วยตัดสินให้ยกนางสีดาให้แก
ประมาณว่ากะจะให้ซูเอี๋ยเพราะเห็นว่าเป็นญาติกัน แต่ท้าวมาลีวราชเป็นเทพที่เที่ยงธรรมไม่เห็นแก่ความเป็นญาติพี่น้อง ตัดสินอย่างตรงไปตรงมาให้ทศกัณฐ์ต้องคืนนางสีดาให้พระราม
ที่ว่าสนุก  ก็เพราะเป็นภาพที่จะได้เห็นว่าทศกัณฑ์นี่แกก็เอาเรื่องเลยทีเดียว พระราม สีดา ต้องลงมานั่งเฝ้าท้าวมาลีวราช ส่วนตัวทศกัณฐ์กลับนั่งกร่างอยู่บนราชรถ
เรื่องรามเกียรติ์ที่จริงมีที่มาเริ่มต้นกันตั้งแต่บนสวรรค์ ที่อสูรตนหนึ่งชื่อ "นนทุก" ที่มีหน้าที่ล้างเท้าให้เทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระอิศวร แกก็เกิดไปฟ้องพระอิศวรว่าแกเจ็บช้ำน้ำใจเหลือเกินที่ถูกพวกเทวดาที่มาเข้าเฝ้า หยอกแกล้งลูบหัวลูบหูจนแกถึงกับหัวล้านไปหมด
พระอิศวรก็เป็นเทพใจป้ำ ประมาณว่าพี่นี้มีแต่ให้ ใครขออะไรให้แหลก ท่านก็เลยประทานนิ้วเพชรไปให้ นิ้วอะไรก็ไม่รู้ ชี้ใครเป็นตายหมด
พอ อสูรนนทุก ได้ไปก็เลยสนุกสนานใหญ่ เที่ยวไล่ชี้เทวดาบนสวรรค์ตายกันระเนระนาด ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องมาปราบ ด้วยการแปลงกายเป็นนางอัปสรมาหลอกให้ อสูรนนทุก ฟ้อนรำตามจนเผลอชี้นิ้วเข้าตัวเองเข้าให้ แต่ก่อนจะสิ้นใจตาย ก็เห็นนางอัปสรก็คืนร่างเป็นพระนารายณ์มีสี่แขนสี่มือ เจ้าอสูรนนทุกก็เลยรู้ว่าเป็นพระนารายณ์แปลงมา
แต่ก็ยังไม่วายปรามาสว่าพระนารายณ์มีตั้งสี่แขนสี่มือ ใครมันจะไปสู้ได้ พระนารายณ์ก็เลยบอกสบายมากน้อง ยอมให้มีนัดล้างตา แถมต่อให้ อสูรนนทุก แกมียี่สิบแขนยี่สิบมือ เดี๋ยวจะเป็นแค่มนุษย์มีแต่สองมือนี่แหละไปปราบให้ดูเป็นขวัญตา แล้วก็เลยเป็นเรื่องรามเกียรติ์ยาวเหยียดว่าด้วยการอวตารของพระนารายณ์มาปราบยักษ์ทศกัณฐ์



การที่เลือกเรื่องรามเกียรติ์มาวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังนี่ก็มีที่มาที่ไปเหมือนกัน
เพราะจากความเชื่อของเราที่ว่าพระมหากษัตริย์นั้น ทรงเป็นพระนารายณ์อวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญอย่างเดียวกับพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ เพราะงั้นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องของใครอื่น แต่เป็นเรื่องราวพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์นั่นเอง



ระหว่างเดินดูภาพจิตรกรรม ตามซุ้มประตูทางเข้าออกที่เดินผ่าน จะวาดภาพยักษ์และสัตว์หิมพานต์พร้อมระบุชื่อเอาไว้ด้วย ฉะนั้นใครสนใจว่าเจ้าสัตว์หิมพานต์ที่อยู่บนฐานไพทีที่เพิ่งไปชมมามีชื่อเสียงเรียงนามอะไรกันบ้างก็มาเดินดูเฉลยได้



ถ้าเราเดินชมภาพรามเกียรติ์ตอนแรกไล่มาเรื่อย ๆ สักหน่อยเราจะเห็นพระปรางค์ตั้งอยู่ พระปรางค์นี้มีอยู่ทั้งสิ้น 8 องค์ บางองค์อยู่ภายในระเบียงคด แต่บางองค์ก็อยู่ด้านนอกต้องเดินออกประตูไปชม
พระปรางค์เหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยโปรดฯ ให้สร้างขึ้นอุทิศถวายแด่ปูชนียบุคคลและวัตถุในพุทธศาสนา ถ้าไล่ตามลำดับจากด้านทิศเหนือไปใต้ หรือเริ่มจากด้านที่ใกล้กับสนามหลวงลงไป ก็คือ
1. พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธองค์
2. พระสัมธัมปริยัติวรามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระธรรม
3. พระอริยสงคสาวกมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระสงฆ์
4. พระอริยสาวิกภิกสุนีสังคมมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระภิกษุณี
5. พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระปัจเจกโพธิ คือบรรดาพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วแต่ไม่มีอุปนิสัยที่จะสั่งสอนผู้อื่น
6. บรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ อุทิศถวายพระมหาจักรพรรดิ์
7. พระโพธิสัตวกฤาฎามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่บรรดาพระโพธิสัตว์
8. พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย ผู้จะลงมาตรัสรู้ในอนาคต



เมื่อเดินต่อมาเราจะพบ หอพระคันธารราฐ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางคันธารราฐหรือที่เรียกว่าปางขอฝน เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระเป็นกิริยากวักเรียกเม็ดฝน พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) แบหงายรับน้ำฝน พระพุทธรูปนี้จะนำออกมาในพระราชพิธีแรกนาขวัญและพิธีพิรุณศาสตร์
เหตุที่เรียกปางนี้ว่าคันธารราฐ ก็เพราะเป็นปางที่สร้างขึ้นในเมืองคันธาระ ราว พ.ศ. 600 ซึ่งที่นี่นับเป็นที่แรกที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะชาวกรีกที่มาในกองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้มายึดเมืองนี้เอาไว้ แล้วต่อมาได้หันมานับถือพุทธศาสนา ก็เลยคิดทำพระพุทธรูปขึ้นมาเหมือนกับที่ตัวเคยมีเทวรูปของบรรดาเทพเจ้ากรีกไว้บูชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น